SSFX กองทุนเพื่อการออมพิเศษ รีบซื้อก่อน 30 มิถุนายน 2563 เท่านั้น

2 Min Read

 SSFX ย่อมาจาก Super Savings Fund Extra หรือชื่อไทยว่า “กองทุนเพื่อการออมพิเศษ”  ก็คือเป็น SSF พิเศษที่ออกมาขายเฉพาะช่วงนี้ เป็นนโยบายพิเศษของรัฐบาลในการลดความผันผวนของตลาดหุ้น โดยการให้คนที่ต้องการลดหย่อนภาษี ลดหย่อนเพิ่มเติมได้ในวงเงิน 200,000 บาท โดยมีระยะเวลาซื้อได้ถึง 30 มิถุนายน 2563 เท่านั้น วงเงินของ SSFX เป็นวงเงินพิเศษ ไม่ต้องไปรวมคำนวณกับ SSF หรือ RMF ใด ๆ ทั้งสิ้น

 SSFX : Super Savings Fund Extra : กองทุนเพื่อการออมพิเศษ

 “กองทุนเพื่อการออมพิเศษ” คือ กองทุนลดหย่อนภาษีวงเงินพิเศษ ที่มีกำหนดระยะเวลาซื้อหน่วยลงทุนได้ระหว่างเดือนเมษายน – มิถุนายน 2563 เท่านั้น มีนโยบายลงทุนในหลักทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 65% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีสูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท เหมาะกับผู้ลงทุนที่ต้องการลดหย่อนภาษี ด้วยการลงทุนในหุ้นไทยในจังหวะที่ราคาหุ้นปรับตัวลง และต้องการมีวงเงินลดหย่อนภาษีเพิ่มเติมอีก 200,000 บาท นอกเหนือจากกองทุน SSF ปกติ ซึ่งส่วนที่เกิน 200,000 บาท จะไม่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ และกำไรที่ได้รับจากการขายคืน(เฉพาะส่วนที่เกินสิทธิ) จะถือเป็นรายได้ในปีที่ขายคืน ซึ่งต้องนำไปรวมคำนวณภาษีด้วย

ข้อควรทราบกรณีผิดเงื่อนไขการลงทุนกองทุนและ SSF หรือการขายคืนก่อนครบ 10 ปี (นับตั้งแต่วันซื้อหน่วยลงทุน)

– ต้องคืนเงินภาษีที่ได้รับยกเว้นทั้งหมดทันที พร้อมจ่ายเงินเพิ่มให้รัฐ 1.50% ต่อเดือน โดยคิดย้อนหลังตั้งแต่เดือน เม.ย.ของปีที่เคยยื่นขอลดหย่อนภาษีไว้ จนถึงวันที่ยื่นคืนภาษี
– กำไรที่ได้จากการขายคืนถือเป็นรายได้ในปีที่ขายคืน ซึ่งต้องนำไปรวมคำนวณภาษีด้วย โดย บลจ.กสิกรไทยจะหักภาษี ณ ที่จ่ายตามอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
– หากขายคืนหน่วยลงทุนที่ถือครองต่ำกว่า 1 ปี จะเสีย exit fee 1.50% ของมูลค่าซื้อขาย

จะซื้อ SSFX กองไหนดี

จะซื้อ SSFX ก็ขึ้นอยู่กับความชอบในรูปแบบการลงทุนของกองแบบไปไหน ซึ่ง ZA.IN.TH ก็แบ่งประเภทมาให้ง่ายต่อการศึกษากันต่อ โดยแบ่งเป็นกลุ่มดังนี้คือ

ลงทุนตามดัชนีหุ้น (Passive Investment)

ลงทุนตามดัชนีหุ้น (Passive Investment) หมายถึง SSFX ที่ลงทุนในหุ้น และบริหารจัดการแบบเชิงรับ เพื่อสร้างผลตอบแทนให้ใกล้เคียงกับดัชนีหุ้นที่ใช้อ้างอิง เช่น SET ,SET50, SET100 เป็นต้น ทำให้มีข้อดี คือต้นทุนค่าธรรมเนียมบริหารจัดการถูกกว่ากองที่เป็น Active Investment ตัวอย่าง SFFX ประเภทนี้ คือ PRINCIPAL SET50 SSFX, PHATRA SET50 ESG SSFX, SCBSET SSFX, KFS100SFFX

 ลงทุนในหุ้นไทย ‘ไม่ต่ำกว่า 80%’ ของ NAV

ลงทุนในหุ้นไทย ‘ไม่ต่ำกว่า 80%’ ของ NAV หมายถึง กลุ่มที่มีนโยบายลงทุนในหุ้นไทยเต็มที่ ‘ไม่ต่ำกว่า 80%’ ทำให้มีความสัมพันธ์โดยตรงกับ SET index ค่อนข้างมาก และมีความเสี่ยงที่มากตามมาเช่นกัน ถ้าในอนาคตอีก 10 ปี ตอนที่ขายกอง SSFX ตลาดเป็นขาขึ้น SET index มากกว่าตอนที่ซื้อ ก็มักจะได้กำไรตาม แต่ถ้าเกิดวิกฤติทางการเงินรอบใหม่ ก็อาจจะขาดทุนได้เช่นกัน ตัวอย่าง SFFX ประเภทนี้ คือ T-ES-EQDSSFX, TEGSSFX,SCBEQ-SSFX,UOBEQ-SSFX, BEQSSF

ลงทุนในหุ้นไทย ‘ไม่ต่ำกว่า 65%’ ของ NAV

ประเภทที่ 3 ลงทุนในหุ้นไทย ‘ไม่ต่ำกว่า 65%’ ของ NAV หมายถึงกลุ่มที่มีนโยบาย การลงทุนกระจายความเสี่ยงออกจากหุ้น โดยไปลงทุนในสินทรัพย์ประเภทอื่นๆ เช่นตราสารทุนในต่างประเทศ กองทุนรวม กลุ่มกองทุนอสังหาริมทรัพย์ หรือตราสารหนี้ เป็นต้น ขึ้นกับนโยบายการลงทุนที่ถูกออกแบบมาของแต่ละบลจ. ซึ่งจะบอกใน Fund Factsheet  ตัวอย่าง SFFX ประเภทนี้ คือ K-SUPSTAR-SSFX,PRINCIPAL IPROPEN-SSF, LHSMARTD-SSFX, BM70SSF

ลงทุนในหุ้นไทย 70-30

ลงทุนในหุ้นไทย 70-30 หมายถึง กลุ่มที่ออกแบบมาให้เป็นคล้ายกองทุนผสมที่มีการลงทุนในตราสารทุน(หุ้น) ในสัดส่วนประมาณ 70% และที่เหลืออีก 30% เป็น ตราสารหนี้ ที่เป็นสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำ ต่างจากประเภทที่ 3 ที่จะลงทุนในสินทรัพย์อะไรก็ได้ ตัวอย่าง SFFX ประเภทนี้ คือ SCB70-SSFX, KT70/30S-SSFX

ผู้เชี่ยวชาญการเงินการลงทุน ซ่าอินไทย
Author: ผู้เชี่ยวชาญการเงินการลงทุน ซ่าอินไทย

ติดตามข่าวสารการเงินการลงทุนทุกรูปแบบได้ที่นี่

Share this Article
ติดตามข่าวสารการเงินการลงทุนทุกรูปแบบได้ที่นี่