วิถีของคนที่เก็บเงินเก่ง ทำกันอย่างไร ให้มีเงินเก็บ

1 Min Read

ข้าวของราคาแพง ค่าใช้จ่ายมีแต่จะเพิ่มขึ้น สินค้าก็มีแต่ขึ้นราคา แต่เงินเดือนไม่ยักขึ้นตาม สุดท้ายก็ต้องกู้หนี้ยืมสิน มีหนี้บัตรเครดิตพ่วงยาวเป็นวา เงินออมไม่ต้องพูดถึง วันนี้ ZA.IN.TH จะมาแนะนำวิถีของคนที่เก็บเงินเก่งๆกัน ว่าเขาทำกันอย่างไร ให้มีเงินเก็บ

ลดความอยาก

ระมัดระวังการใช้เงิน ลดความอยากได้สิ่งฟุ่มเฟือย ผู้ที่มีเงินเก็บไม่ใช่คนขี้เหนียว แต่รู้จักคุณค่าเงิน คือ ซื้อในสิ่งที่ควรซื้อหรือก่อนซื้ออะไรก็ถามตัวเองว่า “ซื้อแล้ว จะใช้หรือไม่” ถ้าคำตอบคือ “ไม่” ก็จะเลือกเก็บเงินเอาไว้ ดังนั้น ผู้ที่รู้จักควบคุมความอยากได้ อยากมี จะมีเงินเหลือในแต่ละเดือนอย่างแน่นอน

คิดถึงชีวิตวัยเกษียณ

เวลาถามคนที่เก็บเงินในแต่ละเดือนได้เยอะๆ มักจะได้คำตอบว่า “เก็บไว้ใช้ตอนเกษียณ” ที่สำคัญส่วนใหญ่เริ่มวางแผนการเงินตั้งแต่อายุไม่เยอะ เช่น 25 ปี ก็เริ่มเก็บเงินและนำไปลงทุน ขณะเดียวกันก็เก็บเงินผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและกองทุน RMF ด้วย ดังนั้น หากวางแผนการเงินและจัดพอร์ตลงทุนให้เหมาะสมก็จะมีเงินใช้เพียงพอตอนเกษียณ

รู้จักลงทุน

พอมีเงินเหลือมากขึ้น ต้องนำไปลงทุนเพื่อให้ออกดอกออกผล หากรับความเสี่ยงได้ต่ำ ก็ลงทุนกองทุนรวมตลาดเงิน กองทุนรวมตราสารหนี้ รับความเสี่ยงได้สูงขึ้นอาจลงทุนกองทุนรวมผสม กองทุนรวมหุ้น และถ้ารับความเสี่ยงได้สูงมากขึ้นก็ลงทุนหุ้นโดยตรง แต่ทุกการลงทุนมีความเสี่ยงก็ต้องศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจ

รู้เส้นทางการเงิน

หลายคนไม่รู้ว่าเงินเดือนหมดไปกับอะไรบ้าง เพราะมักคิดแต่เรื่องใช้จ่าย หากเป็นแบบนี้ก็จะเก็บเงินไม่อยู่ ดังนั้น ถ้าอยากเก็บเงินให้ได้เยอะๆ ต้องเริ่มจากจดบันทึกรายรับ – รายจ่ายประจำวัน จากนั้นก็รวบรวมข้อมูลการเงิน เช่น สมุดบัญชีเงินฝาก ข้อมูลการลงทุน การใช้จ่ายเงิน เพื่อทำให้รู้เส้นทางเงินของตัวเอง เช่น รายรับมาจากไหน เท่าไหร่ ซื้ออะไรไปบ้าง ซื้อวันไหน กี่บาท เมื่อบวกลบออกมาแล้วเป็นอย่างไรวิธีการนี้จะทำให้รู้ว่ามีหลายอย่างที่ไม่ควรซื้อ บางคนถึงกับตกใจ “ซื้อไปได้อย่างไร” “ซื้อตอนไหน” ก็ทำให้เกิดอาการเสียดาย

หลีกเลี่ยงเป็นหนี้ที่มีดอกเบี้ยสูง

บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด ไม่ว่าจะใช้จ่ายอะไรก็รูดด้วยบัตรเหล่านี้จนหนี้สินพอกพูนขึ้นเรื่อยๆ และเมื่อถึงเวลาชำระหนี้ก็จะจ่ายในอัตราขั้นต่ำ ถ้าเดือนไหนไม่มีเงินพอจ่ายหนี้ก็จะใช้วิธีกดเงินสดจากบัตรใบแรก เพื่อจ่ายใบที่สอง ผลที่ตามมาคือ เจอดอกเบี้ยจนอ่วม 18% คือ ดอกเบี้ยบัตรเครดิต 28% คือ ดอกเบี้ยบัตรกดเงินสด ถ้าอยากจะมีเงินเหลือในแต่ละเดือนให้มากขึ้น ควรหลีกเลี่ยงการเป็นหนี้ โดยเฉพาะหนี้ที่มีดอกเบี้ยสูงๆ หรือควรมีบัตรเครดิต 1 – 2 ใบ โดยใช้อย่างมีวินัย และชำระหนี้เต็มจำนวนเพื่อจะได้ไม่ต้องเสียดอกเบี้ย

ผู้เชี่ยวชาญการเงินการลงทุน ซ่าอินไทย
Author: ผู้เชี่ยวชาญการเงินการลงทุน ซ่าอินไทย

ติดตามข่าวสารการเงินการลงทุนทุกรูปแบบได้ที่นี่

Share this Article
ติดตามข่าวสารการเงินการลงทุนทุกรูปแบบได้ที่นี่