ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ ทางเลือกการออม ผลตอบแทนดี คุ้มครองชีวิต

1 Min Read
Doctor filling up a life insurance form

วันนี้เราจะมาแนะนำทางเลือกการลงทุนหรือการออมที่ได้รับผลตอบแทนดีกว่าเงินฝากแถมยังได้รับการคุ้มครองชีวิต นั่นก็คือ “ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์” ซึ่งหากว่ามีระยะการคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไปก็ยังสามารถนำค่าเบี้ยประกันไปลดหย่อนภาษีได้สูงสุดถึง 1 แสนบาทด้วย

100%

ซึ่งประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์เป็นการลงทุนที่มีให้เลือกหลากหลายรูปแบบทั้งระยะสั้นและระยะยาวยกตัวอย่างเช่น 5/10 7/15 15/25 1/30 20/20 ตัวเลขด้านหน้า คือ จำนวนปีที่ชำระเบี้ยประกันภัย และ ตัวเลขด้านหลัง คือ จำนวนปีที่คุ้มครอง เช่น ประกันชีวิตแบบออมทรัพย์ 5/10 หมายถึง ระยะเวลาจ่ายชำระเบี้ย 5 ปี ให้ความคุ้มครองชีวิต 10 ปี เมื่อครบกำหนดอายุ กรมธรรม์ ก็จะได้รับเงินออมและผลประโยชน์ตามเงื่อนไขของกรมธรรม์ เป็นต้น

ข้อดีของการทำประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์คือ
๐ คุ้มครองชีวิตและให้ความมั่นคงกับลูกหลาน
๐ บังคับให้มีวินัยการออม
๐ ทำให้มี “เงินก้อน” ไว้ใช้ในอนาคต
๐ จำนวน “ผลตอบแทน” ชัดเจน
๐ ผลตอบแทน “ไม่เสียภาษี” อะไรเลย
๐ เบี้ยประกันใช้ “ลดหย่อนภาษี” ได้

หน้าที่หรือจุดประสงค์หลักของประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ก็คือ การการันตีเงินเป้าหมายในอนาคต คุ้มครองความเสี่ยงเรื่องความไม่แน่นอนของการที่จะไม่มีเงิน หรือมีเงินก้อนสำหรับเป้าหมายในอนาคตไม่เพียงพอ ดังนั้น หากเราจะซื้อประกันสะสมทรัพย์เราก็ควรจะต้องซื้อเพื่อจุดประสงค์นี้เป็นหลักถึงจะตอบโจทย์จริงๆ ไม่ใช่จุดประสงค์อื่น (เช่น เพื่อลดหย่อนภาษี – เพราะประกันชีวิตแบบอื่นๆ หรือ RMF LTF ก็สามารถลดหย่อนได้ หรือเพื่อคุ้มครองชีวิตเป็นหลักอย่างเดียว – เพราะมีประกันชีวิตแบบอื่นที่เหมาะสมกว่า เช่นแบบตลอดชีพ หรือแบบชั่วระยะเวลา อาทิ 10/1 , 10/10 เป็นต้น)

เทคนิคการเลือกประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์

วงเงินคุ้มครอง ควรเลือกแบบประกันที่ตรงกับความต้องการ โดยส่วนใหญ่ประกันชีวิตที่มีวงเงินความคุ้มครองสูง ผลตอบแทนที่ได้รับจะค่อนข้างน้อย เพราะค่าเบี้ยประกันบางส่วนจะถูกนำไปหักจ่ายเป็นค่าความคุ้มครอง

ระยะเวลาชำระเบี้ย ควรเลือกให้เหมาะกับอายุและความสามารถในการหารายได้ เช่น การทำประกันสะสมทรัพย์แบบระยะยาวที่ต้องชำระเบี้ย 10 – 20 ปี เหมาะกับวัยเริ่มต้นทำงานหรือวัยกลางคน แต่สำหรับวัยใกล้เกษียณแล้ว ก็อาจจะไม่เหมาะสม เพราะส่วนใหญ่แล้วรายได้หลังเกษียณจะลดลงมาก อาจเป็นภาระมากกว่าจะเป็นการออมเงิน

งวดการชำระเบี้ย โดยปกติเอกสารประกอบการเสนอขายประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ส่วนใหญ่จะแสดงค่าเบี้ยแบบรายปี หากผู้เอาประกันต้องการชำระเป็นรายเดือน รายสามเดือน หรือรายหกเดือน ก็สามารถทำได้ แต่ค่าเบี้ยรวมต่อปีจะสูงขึ้น 2% – 9% ซึ่งอาจทำให้ผลตอบแทนที่ได้รับจากการออมเงินในประกันชีวิตลดลง

รูปแบบการจ่ายเงินคืน โดยปกติประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์มักจะให้ผลตอบแทนในรูปแบบเงินคืนรายงวดและเงินคืนเมื่อครบกำหนดสัญญา ซึ่งแต่ละบริษัทก็มีข้อเสนอที่แตกต่างกัน ดังนั้น หากยังไม่มีความจำเป็นต้องนำเงินไปใช้จ่ายอะไร ก็ควรฝากเงินคืนรายงวดไว้ในกรมธรรม์ เพราะจะได้รับอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าเงินฝากทั่วไป และที่สำคัญคือไม่เสียภาษีอีกด้วย

สภาพคล่อง ประกันชีวิตเป็นสัญญาต่างตอบแทน ซึ่งเมื่อผู้เอาประกันชำระเบี้ยแล้ว บริษัทประกันก็จะนำเงินบางส่วน (หลังหักค่าความคุ้มครองและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง) ไปลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนกลับมา ดังนั้น หากผู้เอาประกันต้องการ ยกเลิกสัญญาก่อนกำหนด ผู้เอาประกันอาจได้รับเงินคืนสูงหรือต่ำกว่า ที่ชำระเบี้ยไว้ก็ได้ โดยสามารถตรวจสอบรายละเอียดทั้งหมด ได้จากกรมธรรม์

การออมเงินในประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ค่อนข้างจะมีสภาพคล่องต่ำเมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์การเงินอื่นๆ ที่สามารถแปลงเป็น เงินสดได้ทันที หากรู้ตัวว่า อาจมีความจำเป็นต้องใช้เงินระหว่างที่ออมอยู่ล่ะก็ ควรพิจารณาเงื่อนไขที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ให้ละเอียด รอบคอบก่อน จะได้ไม่เสียประโยชน์ในภายหลัง

 

ผู้เชี่ยวชาญการเงินการลงทุน ซ่าอินไทย
Author: ผู้เชี่ยวชาญการเงินการลงทุน ซ่าอินไทย

ติดตามข่าวสารการเงินการลงทุนทุกรูปแบบได้ที่นี่

Share this Article
ติดตามข่าวสารการเงินการลงทุนทุกรูปแบบได้ที่นี่