BBL ธนาคารกรุงเทพ ส่องหุ้นธนาคาร ที่เข้าอยู่ใน SETHD

1 Min Read

BBL ธนาคารกรุงเทพ เข้ามาอยู่ใน SETHD ตามที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ ตลท. ได้ประกาศผลการคัดเลือกหลักทรัพย์ที่ใช้สำหรับคำนวณดัชนี SETHD โดยมีหลักทรัพย์เข้าใหม่ 5 หลักทรัพย์ ได้แก่ BANPU, BBL, DELTA, IVL & PTTEP ระหว่าง 1 ม.ค. 2563 ถึง 30 มิ.ย. 2563 วันนี้เราจะมาส่องธุรกิจธนาคารพาณิชย์ที่ให้บริการทางการเงินครบวงจร คือ BBL ธนาคารกรุงเทพ

BBL : ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ธุรกิจกลุ่มอุตสาหกรรมธุรกิจการเงิน หมวดธุรกิจธนาคาร เริ่มต้นซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ตั้งแต่ 30 เม.ย. 2518 ที่ราคาพาร์ 10.00 บาท ด้วยทุนจดทะเบียน 39,983,450,000.00 บาท เป็นจำนวนหุ้นจดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 1,908,842,894 หุ้น ลักษณะธุรกิจ ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ที่ให้บริการทางการเงินครบวงจรแก่ธุรกิจทั้งขนาดใหญ่ SME ตลอดจนฐานลูกค้าบุคคล โดยมีสาขาในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ และมีเครือข่ายในต่างประเทศครอบคลุมเขตเศรษฐกิจสำคัญของโลก

ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ คือบริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด 31.12 %, SOUTH EAST ASIA UK (TYPE C) NOMINEES LIMITED, สำนักงานประกันสังคม ตามลำดับ มีคุณปิติ สิทธิอำนวย เป็นประธานกรรมการ คุณเดชา ตุลานันท์ เป็นประธานกรรมการบริหาร ด้านงบการเงินก็มีการจ่ายเงินปันผลอย่างต่อเนื่อง

วิสัยทัศน์ ธนาคารกรุงเทพมุ่งหมายที่จะเป็นธนาคารที่ให้บริการด้านการเงินที่มีคุณภาพเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า มีความพร้อมด้วยบุคลากรที่มีคุณภาพ มีเทคโนโลยีและระบบงานที่ทันสมัย คงไว้ซึ่งความเป็นสากล ตลอดจนการเป็นธนาคารชั้นนำแห่งภูมิภาคเอเชีย

ธนาคารกรุงเทพยังคงเป็นผู้นำในภาคการธนาคารไทยมาโดยตลอด เป็นผลมาจากปรัชญาของธนาคารที่มุ่งเน้นการพัฒนาสายสัมพันธ์กับลูกค้า ตลอดจนการพัฒนาบริการธนาคารดิจิทัลที่ปลอดภัย รวมทั้งยังมีบริษัทย่อยอย่างบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง จำกัด (กองทุนรวมบัวหลวง) และบริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) ที่ช่วยคัดสรรโอกาสทางการลงทุนเพื่อลูกค้าของธนาคารโดยเฉพาะ

นอกจากนี้ ธนาคารยังมีความเป็นเลิศในด้านการประกอบกิจการที่ดีและถูกต้อง ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย และมีแนวคิดใหม่ๆ เพื่อรับมือกับความท้าทายในอนาคต พร้อมทั้งร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศไทยสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง อย่างยั่งยืน

ธนาคารกรุงเทพ (BBL) รายงานผลประกอบการปี 2562 มีกำไรสุทธิ 35,816 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.4% จากปีก่อน ท่ามกลางความท้าทายทางเศรษฐกิจ โดยมีรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิเพิ่มขึ้น 3.3% เป็นผลจากค่าธรรมเนียมจากการอำนวยสินเชื่อเพิ่มขึ้น ประกอบกับการเติบโตของค่าธรรมเนียมจากบริการประกันผ่านธนาคารและบริการกองทุนรวม สอดคล้องกับเจตนารมณ์เชิงกลยุทธ์ของธนาคาร ส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิลดลงเล็กน้อย

ทั้งนี้ ในปี 2562 เศรษฐกิจไทยขยายตัวในอัตราที่ลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน จากการส่งออกที่ลดลง ทำให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมและการลงทุนลดลงตามไปด้วย ซึ่งเป็นผลจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลง ความไม่แน่นอนของความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างประเทศ และค่าเงินบาทที่แข็งค่ามากกว่าที่คาด ขณะที่การบริโภคภายในประเทศชะลอตัวจากปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น หนี้สินครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงและการเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ การใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวน้อยกว่าคาดจากความล่าช้าในการอนุมัติงบประมาณประจำปี 2563

ผู้เชี่ยวชาญการเงินการลงทุน ซ่าอินไทย
Author: ผู้เชี่ยวชาญการเงินการลงทุน ซ่าอินไทย

ติดตามข่าวสารการเงินการลงทุนทุกรูปแบบได้ที่นี่

Share this Article
ติดตามข่าวสารการเงินการลงทุนทุกรูปแบบได้ที่นี่