ความรู้นักลงทุนมือใหม่ GDP ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ

2 Min Read

ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product : GDP) หมายถึง มูลค่าที่เป็นตัวเงินของสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายที่ผลิตขึ้นในระบบเศรษฐกิจใดระบบเศรษฐกิจหนึ่ง ภายในระยะเวลาหนึ่งปกติใช้ระยะเวลา 1 ปี

มูลค่าของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product : GDP) ประกอบด้วยส่วนประกอบหลั 4 ส่วนหลัก
ส่วนที่ 1 มาจากการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภค ซึ่งก็คือกิจกรรมการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของเรานั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นการชอปปิง หรือ ออกไปรับประทานอาหาร
ส่วนที่ 2 มาจากการลงทุน ทั้งจากภาคธุรกิจที่ลงทุนในเครื่องจักร ที่ดิน อาคาร หรือระบบเทคโนโลยี รวมถึงการลงทุนของคนทั่วไป เช่น การซื้อบ้านหรือที่อยู่อาศัย
ส่วนที่ 3 จากการใช้จ่ายของภาครัฐ
ส่วนที่ 4 จากมูลค่าส่งออกสุทธิ โดยคำนวณมาจากมูลค่าการส่งออกของประเทศลบด้วยมูลค่าการนำเข้า

การวัดผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ สามารถวัดได้ 2 วิธี ได้แก่
1. การวัดรายจ่าย (Expenditure Approach) ที่จ่ายให้สินค้าและบริการขั้นสุดท้าย
GDP = รายจ่ายเพื่อบริโภค + รายจ่ายเพื่อการลงทุน + รายจ่ายของรัฐบาล + รายจ่ายสุทธิของต่างประเทศที่ซื้อสินค้าผลิตในประเทศ

2. การวัดรายได้ (Resource Cost – Income Approach) ที่ได้จากการขายสินค้าและบริการขั้นสุดท้าย
GDP = ค่าจ้างและเงินเดือนลูกจ้าง + รายได้เจ้าของธุรกิจส่วนตัว + กำไรของบริษัท (รายได้ผู้ถือหุ้น) + ดอกเบี้ย (รายได้เจ้าหนี้) + ค่าเช่า (รายได้เจ้าของสินทรัพย์) + ภาษีธุรกิจทางอ้อม + ค่าเสื่อมราคา + รายได้สุทธิของคนต่างชาติในประเทศ

การจัดอันดับประเทศตามผลิตภัณฑ์ประชาชาติเบื้องต้น (Gross Domestic Product : GDP) ล่าสุดกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund) หรือ ไอเอ็มเอฟ (IMF) ได้รายงาน GDP ของทั้งโลก 87,265,226 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ ได้จัดอับดับประจำปี 2562 อันดับ 1 คือ สหรัฐฯ 21,439,453 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ อันดับ 2 คือ ประเทศจีน ที่ 14,140,163 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ ถือเป็นอันดับ 1 ของทวีปเอเชีย ตามด้วยญี่ปุ่น ที่ 5,154,475 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ มาเป็นอันดับ 3สำหรับอันดับ 1 ของ AEC คือประเทศ อินโดนีเซีย 1,111,713 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ ถือเป็นอันดับ 16 ของโลก ส่วนประเทศไทยอยู่ที่อันดับ 22 ของโลก อันดับ 2 ของ AEC 529,177 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ
สำหรับในประเทศไทย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รายงานว่ากรุงเทพฯ ระยอง และชลบุรี เพียง 3 จังหวัดมีมูลค่าทางเศรษฐกิจรวมกันเป็น 7 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 45% ของ GDP ประเทศไทยเลยทีเดียว
สำหรับจังหวัดที่มี GDP สูงสุดแยกตามภาคต่างๆ ภาคเหนือ คือ เชียงใหม่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือ นครราชสีมา ภาคตะวันออก คือ ระยอง ภาคกลางคือพระนครศรีอยุธยา กรุงเทพฯและปริมณฑลคือ กรุงเทพมหานคร ภาคตะวันตกคือราชบุรี และภาคใต้คือสงขลา

แต่ในความเป็นจริงแล้ว GDP ที่เราเห็น อาจไม่ใช่ตัวเลขที่สะท้อนภาพรวมเศรษฐกิจที่แท้จริงสำหรับทุกประเทศ เพราะมีเศรษฐกิจนอกระบบ ที่เป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ไม่ได้ถูกขึ้นทะเบียนอย่างเป็นทางการ ไม่สามารถวัดมูลค่าที่ชัดเจน จึงไม่ถูกเรียกเก็บภาษีจากรัฐ และไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย ประกอบด้วย
1.ที่ไม่อยู่ภายใต้บัญชีประชาชาติ (GDP) เช่น มอเตอร์ไซค์รับจ้าง, หาบเร่แผงลอย, การรับงานมาทำที่บ้าน, สินเชื่อนอกระบบ
2.ที่ไม่อยู่ภายใต้ระบบความคุ้มครองแรงงาน เช่น แรงงานส่วนใหญ่ในภาคเกษตรกรรม และการบริการ
3.ที่ไม่อยู่ภายใต้ระบบกฎหมาย เช่น การพนัน, การค้าประเวณี, อาวุธเถื่อน และยาเสพติด
กิจกรรมนอกระบบเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึง วิถีชีวิต, วัฒนธรรม และความเป็นอยู่ของครัวเรือน ซึ่งช่วยสร้างอาชีพ รวมถึงกระจายสินค้าและรายได้ไปยังกลุ่มคนยากจน ธนาคารโลกได้หันมาใช้วิธีแบบใหม่ในการประมาณค่า GDP ที่แท้จริงของแต่ละประเทศ จากความสว่างของแสงไฟยามค่ำคืน (Night Lights Approach) เมื่อนำแสงไฟมาประยุกต์ใช้กับดัชนีอื่นๆ ยังสามารถบ่งบอกคุณภาพชีวิตของผู้คนในด้านต่างๆ ได้อีกด้วย เช่น ความยากจน, ความเหลื่อมล้ำ, ความสมดุลของระบบนิเวศ, การเข้าถึงแหล่งพลังงานไฟฟ้า, เทคโนโลยี และข้อมูลรวมถึงการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างสังคมเมือง ซึ่งถ้าวัดเป็นมูลค่า ประเทศไทยจะมีเศรษฐกิจนอกระบบ 6 ล้านล้านบาท ซึ่งมากถึง 40% ของ GDP ประเทศไทยเลยทีเดียว

ผู้เชี่ยวชาญการเงินการลงทุน ซ่าอินไทย
Author: ผู้เชี่ยวชาญการเงินการลงทุน ซ่าอินไทย

ติดตามข่าวสารการเงินการลงทุนทุกรูปแบบได้ที่นี่

Share this Article
ติดตามข่าวสารการเงินการลงทุนทุกรูปแบบได้ที่นี่