แนะนำการลงทุนใน อนุพันธ์ : สัญญาซื้อขายล่วงหน้า

2 Min Read

อนุพันธ์ ก็คือตราสารทางการเงินแบบหนึ่ง โดยมีลักษณะเป็นแบบสัญญาหรือข้อตกลง จะซื้อ จะขายสินค้าในราคา ปริมาณ และภายใต้เงื่อนไขอื่นที่ตกลงกันไว้ โดยจะทำการส่งมอบสินค้ากันในอนาคต ทั้งนี้ มูลค่าของอนุพันธ์ขึ้นอยู่กับมูลค่าของสินค้าที่ตกลงซื้อขาย หากมูลค่าของสินค้านั้นเปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้อนุพันธ์มีมูลค่าเปลี่ยนแปลงตามไปด้วยเช่นกัน โดยสินค้าที่อนุพันธ์อ้างอิงมูลค่าจะเรียกว่า สินค้าอ้างอิง (Underlying Asset) ลักษณะเด่นของอนุพันธ์อีกอย่างหนึ่ง คือ มีอายุจำกัด เมื่อหมดอายุมูลค่าของอนุพันธ์นั้น ๆ ก็จะหมดลงด้วย

ผู้ซื้อจะมีสถานะซื้อหรือ Long Position ส่วนผู้ขายจะมีสถานะขายหรือ Short Position

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่กล้าได้กล้าเสียพร้อมรับความเสี่ยง และมองหาวิธีลงทุนที่จะทำกำไร ได้ทั้งในภาวะตลาดขาขึ้นและขาลงบอกได้คำเดียวว่าคุณไม่ควรพลาดที่จะลงทุนใน “อนุพันธ์”

ประเภทของอนุพันธ์

1. ฟิวเจอร์ส (FUTURES) เป็นสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่ซื้อขายผ่านตลาดอนุพันธ์ที่มีการจัดตั้งอย่างเป็นทางการ
เมื่อถึงเวลาที่ก าหนด ผู้ซื้อและผู้ขายมีพันธะต้องซื้อขายกันตามที่ตกลงในสัญญา
2. ออปชั่น (OPTIONS) เป็นสัญญาสิทธิ ผู้ขายมีภาระต้องปฎิบัติตามพันธะในสัญญา ในขณะที่ผู้ซื้อมีสิทธิ
จะเลือกใช้สิทธิหรือไม่ก็ได้
3. ฟอร์เวิร์ด (FORWARD) คือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าคล้ายกับฟิวเจอร์ส แต่ผู้ซื้อและผู้ขายตกลงซื้อขายกัน
นอกตลาดที่มีการจัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ
4. สวอป (SWAP) ถือเป็นข้อตกลงระหว่างบุคคลตั้งแต่ 2 ฝ่ายขึ้นไป ในการแลกเปลี่ยนกระแสเงินสดใน
อนาคต

สำหรับอนุพันธ์ที่ซื้อขายใน Thailand Futures Exchange (TFEX) หรือ บริษัท ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) มีอยู่จำนวน 2 ประเภท คือ “ฟิวเจอร์ส” (Futures) และ “ออปชัน” (Options)

ฟิวเจอร์ส (Futures)

คือ สัญญาซื้อขายล่วงหน้า โดยเป็นการทำสัญญาระหว่างคู่สัญญาสองฝ่ายคือ “ผู้ซื้อ” กับ “ผู้ขาย” ที่ตกลงทำสัญญากัน ณ ปัจจุบัน โดยระบุประเภท จํานวน เวลา ที่จะส่งมอบสินค้ากัน โดยจะมีการส่งมอบสินค้า และชำระราคาในอนาคตตามที่ได้ตกลงไว้ ไม่ว่าราคาในขณะนั้นจะเป็นเท่าไรก็ตาม และถือว่าทั้งสองฝ่ายมีภาระผูกพันต่อกันที่ต้องปฏิบัติตาม

สินค้าหรือสินทรัพย์อ้างอิง ที่ใช้ในการซื้อหรือขายสำหรับฟิวเจอร์สนั้น แบ่งเป็น 2 กลุ่มหลัก ๆ คือ
1. สินค้าโภคภัณฑ์ หรือสินค้าเกษตร (Commodity Futures) เช่น น้ำมัน ทองคำ เหล็ก ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา กาแฟ เป็นต้น
2. สินทรัพย์ทางการเงิน (Financial Futures) เช่น หุ้น พันธบัตร เงินตราต่างประเทศ ดัชนีราคาหลักทรัพย์ เป็นต้น

Options 

คือ ตราสารสิทธิที่ให้สิทธิแก่ผู้ซื้อหรือผู้ถือ (Options Holder) ในการซื้อหรือขายสินทรัพย์อ้างอิงในอนาคตจากผู้ขาย
(Options Writer) ด้วยราคาที่ตกลงกันไว้ล่วงหน้า หรือ ราคาใช้สิทธิ (Exercise Price หรือ Strike Price) ภายในวันที่กำหนดไว้ล่วงหน้า หรือวันหมดอายุ (Expiration Date หรือ Exercise Date)  โดยผู้ซื้อหรือผู้ถือจะต้องจ่ายเงิน (Premium) ให้แก่ผู้ขายเพื่อแลกกับสิทธิ ดังกล่าว

ประเภทของออปชั่น
   – คอลออปชั่น (Call Options) เป็นออปชั่นประเภทที่ให้สิทธิผู้ถือในการ “ซื้อสินทรัพย์อ้างอิง” ที่ระบุไว้จากผู้ขายออปชั่น ตามจำนวน ราคา และภายในช่วงเวลาที่กำหนด ทั้งนี้ผู้ซื้อจะเลือกใช้สิทธิในการซื้อสินทรัพย์อ้างอิงตามสัญญาหรือไม่ก็ได้ โดยหากเลือกที่จะไม่ใช้สิทธิ ผู้ซื้อก็จะปล่อยให้สิทธิหมดไปตามอายุของออปชั่นในทางตรงกันข้ามผู้ขายเป็นผู้มีภาระที่จะต้อง“ขายสินทรัพย์อ้างอิง” ให้แก่ผู้ซื้อ เมื่อผู้ซื้อแสดงความจำนงที่จะใช้สิทธิจากผู้ขาย
 – พุทออปชั่น (Put Options) เป็นออปชั่นประเภทที่ให้สิทธิผู้ถือในการ “ขายสินทรัพย์อ้างอิง” ของบริษัทที่ระบุไว้จากผู้ขายออปชั่น ตามจำนวน ราคาและภายในช่วงเวลาที่กำหนด ทั้งนี้ผู้ถือออปชั่น จะเลือกใช้สิทธิในการขายสินทรัพย์อ้างอิงตามสัญญาหรือไม่ก็ได้ในขณะที่ผู้ขายเป็นผู้มีภาระที่จะต้อง “ซื้อสินทรัพย์อ้างอิง” จากผู้ถือออปชั่น ตามราคาและเงื่อนไขที่ระบุไว้ในสัญญาเมื่อผู้ถือออปชั่นแสดงความจำนงที่จะใช้สิทธิขายสินทรัพย์อ้างอิงแก่ผู้ขาย

ความแตกต่างระหว่างออปชั่นและฟิวเจอร์

Futures ทั้งคนซื้อและคนขายต้องทำตามสัญญา คือ “สัญญาต้องเป็นสัญญานั่นเอง”
ถ้าคุณเป็น “คนซื้อ” ก็มีหน้าที่จะ “ต้องซื้อ” ตามที่ตกลงกันไว้
ถ้าคุณเป็น “คนขาย” ก็มีหน้าที่จะ “ ต้องขาย” ตามที่ตกลงกันไว้เช่นเดียวกัน
Options คนซื้อ “มีสิทธิ” คนขาย “มีภาระผูกพัน”
คนที่ซื้อออปชั่น จะเป็นผู้ที่มี “สิทธิ” จะซื้อหรือขาย สินทรัพย์อ้างอิงที่ได้ตกลงกันไว้ เมื่อเป็น “สิทธิ” ก็แปลว่า มีสิทธิเลือกว่าจะใช้สิทธิ หรือจะไม่ใช้สิทธิก็ได้ ซึ่งต้องแลกกับการจ่ายค่าซื้อ ออปชั่น เรียกว่า “ค่าพรีเมี่ยม”
คนที่ขายออปชั่น จะเป็นผู้ที่ “มีภาระผูกพัน ที่จะต้องทำตามที่ได้ตกลงกันไว้ ก็คือถ้าคนซื้อเค้ามาใช้สิทธิซื้อ ก็ต้องขายตามราคาที่ได้ตกลงกันไว้ ในทำนองเดียวกัน ถ้าคนซื้อเค้ามาใช้สิทธิขาย ก็ต้องรับซื้อตามราคาที่ได้ตกลงกันไว้ จะบิดพลิ้วไม่ได้ ซึ่งจะได้รับค่าพรีเมี่ยมเป็นการตอบแทน

ประโยชน์ของอนุพันธ์ คือ เพื่อบริหารความเสี่ยงและเพื่อหากำไรจากส่วนต่างของราคา โดยผู้ลงทุนที่มีสินทรัพย์ เช่น หุ้น ในความครอบครอง จะมีความเสี่ยง เนื่องจากราคาของสินทรัพย์นั้นอาจเปลี่ยนแปลงไปแล้วทำให้สินทรัพย์ที่ผู้ลงทุนถือครองอยู่มีมูลค่าลดลง ผู้ลงทุนสามารถใช้อนุพันธ์เพื่อป้องกันผลขาดทุนหรือประกันราคา ส่วนผู้ลงทุนที่ไม่ได้ถือครองสินทรัพย์ สามารถใช้อนุพันธ์เพื่อสร้างผลตอบแทนได้ โดยซื้อขายอนุพันธ์ตามการคาดการณ์เกี่ยวกับทิศทางของตลาด การซื้อขายอนุพันธ์เพื่อหากำไรจากส่วนต่างของราคา อาจประสบผลขาดทุน หากคาดการณ์ทิศทางของตลาดผิด

ความเสี่ยงในการซื้อขายอนุพันธ์ คือ ผลตอบแทนสูง ความเสี่ยงสูงตาม และความผันผวนของภาวะตลาด
แม้จะมีข้อดีที่ผู้ลงทุนมีโอกาสได้กำไรในอัตราที่สูงมาก ในทางตรงกันข้าม ผู้ลงทุนก็มีโอกาสที่จะประสบผลขาดทุนได้ในอัตราที่สูงมากเช่นกัน เมื่อปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไป อาทิ การขึ้นลงของอัตราดอกเบี้ย จะส่งผลให้ราคาสินค้าอ้างอิงและราคาอนุพันธ์มีความผันผวนตามไปด้วย

https://www.tfex.co.th/ บริษัท ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)

ผู้เชี่ยวชาญการเงินการลงทุน ซ่าอินไทย
Author: ผู้เชี่ยวชาญการเงินการลงทุน ซ่าอินไทย

ติดตามข่าวสารการเงินการลงทุนทุกรูปแบบได้ที่นี่

Share this Article
ติดตามข่าวสารการเงินการลงทุนทุกรูปแบบได้ที่นี่