ประโยชน์จาก “กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ” หรือ PVD

1 Min Read

กองทุนสํารองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) คือกองทุนที่นายจ้างและลูกจ้างร่วมกันจัดตั้งขึ้น โดยเงินของกองทุนมาจากเงินที่ลูกจ้างจ่าย ส่วนหนึ่งเรียกว่า “เงินสะสม“ และนายจ้างจ่ายเงินเข้าอีกส่วนหนึ่งเรียกว่า “เงินสมทบ” กองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นลักษณะของสวัสดิการที่นายจ้างมีให้กับลูกจ้าง เพื่อเป็นหลักประกันทางการเงินให้แก่ลูกจ้างที่เป็นพนักงานบริษัทเอกชนหรือรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ โดยอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของรัฐผ่านกฎหมายที่เรียกว่า “พระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ”

การออมเงินผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เปรียบเสมือนการลงทุนโดยสมัครใจรูปแบบหนึ่ง ที่จะผูกพันไปในระยะยาว โดยคุณแทบจะไม่รู้สึกตัวว่า ได้ออมเงินทีละเล็กทีละน้อยแบบนี้ในทุก ๆ เดือน ซึ่งปัจจุบันในองค์กรธุรกิจชั้นนำส่วนใหญ่จะมีการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพขึ้นมา โดยลูกจ้างจะมีหน้าที่จ่าย “เงินสะสม” และนายจ้างจะเป็นผู้จ่าย “เงินสมทบ” เข้ากองทุนฯ ในจำนวนไม่น้อยกว่าที่ลูกจ้างจ่ายเงินสะสม แต่ไม่เกิน 15% ของเงินเดือน เงินสะสมนี้จะถูกบริหารโดยมืออาชีพผ่านบริษัทจัดการกองทุนหรือ บลจ. ที่ได้รับการคัดเลือกจากบริษัทที่คุณทำงานอยู่ ซึ่งจะมีการนำเงินกองทุนไปลงทุนในตราสารประเภทต่าง ๆ เพื่อสร้างผลตอบแทนให้กับกองทุนฯ นั้น ๆ โดยเงินที่คุณจ่ายสะสมเข้ากองทุนไปทุก ๆ ปี

สมาชิกกองทุนมีสิทธิได้รับเงินจากกองทุนเมื่อความเป็นสมาชิกสิ้นสุดลง โดยจะได้รับส่วนของเงินสะสมเต็มจำนวนทุกกรณี พร้อมทั้งผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากเงินสะสม สำหรับในส่วนของเงินสมทบและผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากเงินสมทบ สมาชิกจะได้รับตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในข้อบังคับกองทุน ที่กำหนดขึ้นโดยหน่วงงานที่คุณทำงานอยู่ โดยปกติจะมีลำดับขั้นการได้รับเงินสมทบ ซึ่งแต่ละแห่งจะกำหนดเอาไว้ไม่เหมือนกัน ตัวอย่างเช่น

พนักงานจะได้เงินสมทบ 5% เมื่อทำงานครบ 1 ปี
พนักงานจะได้เงินสมทบ 10% เมื่อทำงานครบ 2 ปี
พนักงานจะได้เงินสมทบ 30% เมื่อทำงานครบ 5 ปี
พนักงานจะได้เงินสมทบ 50% เมื่อทำงานครบ 7 ปี
พนักงานจะได้เงินสมทบ 100% เมื่อทำงานครบ 10 ปี

การลดหย่อนภาษี ภาษีเป็นเรื่องใหญ่และหนักหนาสาหัสมากในการทำธุรกิจ ผู้ประกอบการหลายคนจึงหาหนทางและวิธีการเพื่อจะลดหย่อนภาษี ซึ่งการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสามารถให้คำตอบในส่วนนี้ได้ค่ะ โดยบริษัทที่ทำการจดทะเบียนจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและจ่ายเงินสมทบให้กับพนักงานเป็นประจำ สามารถนำไปหักได้ตามค่าใช้จ่ายตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15% ของค่าจ้างในแต่ละระยะเวลารอบบัญชีของบริษัท จึงสามารถลดทอนเรื่องค่าใช้จ่ายในส่วนของภาษีไปได้ส่วนหนึ่งค่ะ ในส่วนของพนักงาน สามารถนำไปลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในตอนปลายปีได้ สูงสุดไม่เกิน 15% ของค่าจ้าง หรือไม่เกินปีละ 300,000 บาท

ผู้เชี่ยวชาญการเงินการลงทุน ซ่าอินไทย
Author: ผู้เชี่ยวชาญการเงินการลงทุน ซ่าอินไทย

ติดตามข่าวสารการเงินการลงทุนทุกรูปแบบได้ที่นี่

Share this Article
ติดตามข่าวสารการเงินการลงทุนทุกรูปแบบได้ที่นี่