เศรษฐีหุ้นไทย ทายาทอาณาจักรโอสถสภา นิติ โอสถานุเคราะห์

1 Min Read

นิติ โอสถานุเคราะห์ ทายาทอาณาจักรโอสถสภา ผู้ที่ก้าวขึ้นมาจากอันดับ 7 ในปีที่แล้ว ในการจัดอันดับเศรษฐีหุ้นไทย โดยถือครองหุ้นมูลค่ารวม 48,613.32 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16,648.61 ล้านบาท หรือ 52.08% และในปีนี้ยังถือครองหุ้น บมจ.โอสถสภา (OSP) ซึ่งเข้า-ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2561 เพิ่มเข้ามาด้วย บวกกับหุ้นโฮมโปร (HMPRO) ก็ราคาขึ้นอีกด้วย

นิติ โอสถานุเคราะห์ ปัจจุบันอายุ 46 ปี (เกิดปี 2516) จบการศึกษาปริญญาโทด้านกฎหมายเศรษฐกิจ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาโท เศรษฐศาสตร์และการเมือง Amherst College สหรัฐอเมริกา

การดำรงตำแหน่งกรรมการในหลายบริษัททั้ง บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) บริษัท บางกอกรินเวสท์ จำกัด บริษัท พิชัยสวัสดิ์ จำกัด บริษัท ประกันคุ้มภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท โอสถานุเคราะห์โฮลดิ้ง จำกัด คณะกรรมการบริหารความเสี่ยง คณะกรรมการกลุ่มการค้าภายในและคณะกรรมการกฎหมาย ภาษี และกฎระเบียบ หอการค้าไทย และมูลนิธิโอสถานุเคราะห์

หุ้นที่ นิติ โอสถานุเคราะห์ ถือครองที่โดดเด่นและตลาดให้ความสนใจคือ บมจ.โอสถสภา (OSP) ที่ถือหุ้นเป็นอันดับ 2 กว่า 16.28%

OSP บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) กลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร หมวดธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ผลิตและจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค โดยมีกลุ่มผลิตภัณฑ์หลัก ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มบำรุงกำลังภายใต้ ตราสินค้า เช่น เอ็ม-150 ลิโพ เป็นต้น เครื่องดื่มเกลือแร่ และกาแฟพร้อมดื่ม และกลุ่มผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนบุคคลภายใต้ตราสินค้าเบบี้มายด์ และทเวลฟ์พลัส รวมทั้งธุรกิจให้บริการผลิตสินค้า บรรจุภัณฑ์ และจัดจำหน่ายสินค้า

ราคาล่าสุด (24 ธ.ค.) 39.75 บาท จ่ายปันผลจากกำไรสุทธิมาแล้วถึง 3 รอบ  ผลตอบแทนเงินปันผล 1.75% ประมาณ 0.35 บาทต่อหุ้น กำไรสุทธิเมื่อปีก่อนอยู่ที่ 3,005.34 ล้านบาท กำไรต่อหุ้นอยู่ที่ 1.48 บาท

OSP เพิ่งเข้าซื้อขายในตลาดเมื่อวันที่ 17 ต.ค. 61 ด้วยราคา IPO ที่ 25 บาท โดยราคาขึ้นทำไฮในวันแรกที่เข้าเทรดที่ระดับ 30 บาท แล้วก็อ่อนตัวลงต่อเนื่องทำจุดต่ำสุดที่ 22.80 บาท ในช่วงสัปดาห์แรกของการเข้าเทรด แต่ปี 62 นี้ ทิศทางเป็นขาขึ้นมาเรื่อยจาก 23 จนวันนี้ปลายปีมาอยู่ที่ (24 ธ.ค.) 39.75 บาท

ปัจจัยเชิงบวกของบริษัทคือ OSP สร้างโรงงานผลิตขวดแก้วแห่งใหม่ เพื่อลดต้นทุนการผลิต เป็นโรงงานที่ทันสมัยที่สุดในอาเซียน ใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาช่วยในการผลิต เพื่อเพิ่มศักยภาพในการผลิต เครื่องจักรสามารถเรียนรู้ และแก้ไขตัวเองได้  มีหุ่นยนต์ในบางจุด มีระบบอัตโนมัติมากขึ้น มีระบบข้อมูลแบบ Real Time เพื่อควบคุมการผลิต มีกล้องและเซ็นเซอร์ในการตรวจจับขวดที่ไม่ได้มาตรฐาน  นอกจากนี้มีการปรับเปลี่ยนมาผลิตขวดแก้วน้ำหนักเบา ซึ่งช่วยลดต้นทุนการผลิตไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายในการขนส่งและต้นทุนแปรสภาพ และยังเตรียมสร้างฐานรายได้ในต่างประเทศที่สำคัญคือ เวียดนามและเมียนมาร์ โดยแนะปี 2563 นี้ให้ติดตามยอดขายรายได้ที่มาจาก เวียดนามและเมียนมาร์ ที่จะทำให้ผลประกอบการโตขึ้นอีก

ผู้เชี่ยวชาญการเงินการลงทุน ซ่าอินไทย
Author: ผู้เชี่ยวชาญการเงินการลงทุน ซ่าอินไทย

ติดตามข่าวสารการเงินการลงทุนทุกรูปแบบได้ที่นี่

Share this Article
ติดตามข่าวสารการเงินการลงทุนทุกรูปแบบได้ที่นี่