การลงทุนเริ่มต้นง่ายๆ 1,000 บาท ก็ทำได้

1 Min Read

การลงทุนทางการเงินหลายๆ คนอาจจะมองว่าจะต้องใช้เงินจำนวนมากในการลงทุน เพื่อให้ได้เงินผลตอบแทนเป็นจำนวนมาก แต่รู้หรือไม่ว่า การเริ่มลงทุนด้วยเงินน้อยๆ สำหรับมือใหม่หรือวัยรุ่นที่รายได้อาจจะยังไม่มากก็เป็นสิ่งสำคัญในการที่จะเป็นรากฐานในการต่อยอดการลงทุนก้อนใหญ่ในอนาคต ZA.IN.TH จึงจะมาแนะนำช่องทางการลงทุนที่สามารถเริ่มลงทุนได้ตั้งแต่เงินน้อยๆ เพราะการลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนที่มากขึ้น ซึ่งในปัจจุบันนี้ไม่ยากเลย เราสามารถเริ่มต้นง่ายๆด้วยเงินจำนวนเพียง 1,000 บาท เพื่อลงทุนในทรัพย์สินประเภทต่าง ๆ นอกเหนือจากดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร ที่หากไปดูประกาศอัตราดอกเบี้ยรายวันจากทางธนาคารแห่งประเทศไทยในช่วงเดือนพฤษภาคม 2563 จะเห็นได้ว่า ธนาคารขนาดใหญ่ให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์เฉลี่ยประมาณ 0.50% และเงินฝากประจำ 12 เดือน เฉลี่ยประมาณ 1.00% เท่านั้น จะดีกว่าไหมหากเราแบ่งเงินบางส่วนมาที่เราออมอยู่ มารับความเสี่ยงด้วยการลงทุนทางการเงินแบบอื่นๆ เช่น

1. การลงทุนในตราสารหนี้

ตราสารหนี้  (Bond) ถือเป็นการลงทุนที่เราผู้ลงทุนเปรียบเสมือนกับเป็นเจ้าหนี้ เมื่อบริษัทเอกชนหรือรัฐบาลขนาดใหญ่ได้ยืมเงินของเราไปก็จะมีฐานะเป็นลูกหนี้ ซึ่งจะต้องจ่ายดอกเบี้ยอย่างสม่ำเสมอตามที่กำหนดหรือตกลงกันไว้ แถมยังต้องชำระเงินต้นคืนเมื่อครบกำหนดอายุตราสารหนี้อีกด้วย ซึ่งตราสารหนี้นั้นก็มีหลากหลายรูปแบบ ทั้งแบบระยะสั้น ระยะยาว ตัวอย่างเช่น พันธบัตรรัฐบาล ตั๋วเงินคงคลัง ตั๋วแลกเงิน ตั๋วสัญญาใช้เงิน หุ้นกู้บริษัทเอกชน เป็นต้น

ปัจจุบันนักลงทุนทั่วไปสามารถซื้อพันธบัตรออมทรัพย์ ซึ่งเป็นตราสารหนี้ที่ออกโดยรัฐบาลสำหรับนักลงทุนทั่วไป โดยซื้อเริ่มต้นที่ 1,000 บาทเท่านั้น โดยอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 2.0% – 3.0% ต่อปี เป็นการลงทุนที่ความเสี่ยงต่ำ เหมาะกับคนที่ต้องการรักษาเงินต้นและคนที่รับความเสี่ยงได้ไม่มาก เช่น วัยเกษียณ

2. การลงทุนในหุ้น หรือ ตราสารทุน

การลงทุนในหุ้น หรือที่เรียกกันว่าตราสารทุน (Stock) เป็นตราสารที่ผู้ซื้ออย่างเราจะมีฐานะเป็นเจ้าของร่วมกับเจ้าของบริษัท แต่ว่าเราจะเป็นเจ้าของบริษัทแค่บางส่วน เท่ากับจำนวนหุ้นที่เราถืออยู่เท่านั้น กับกิจการในบริษัทต่างๆ ที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ เมื่อเราเป็นเจ้าของ เราจะมีสิทธิในส่วนแบ่งกำไรของกิจการ สามารถได้รับเงินปันผลตามที่บริษัทประกาศไว้ รวมถึงมีสิทธิในการเข้าประชุมและออกเสียงในการประชุมผู้ถือหุ้นได้ โดยหุ้นนั้นมีความเสี่ยงสูง เนื่องจากราคาซื้อขายมีความผันผวนอยู่ตลอดเวลา ทั้งจากผลกระทบของ ข่าวสาร ความคาดหวังต่างๆ นักลงทุนต้องคอยติดตามปัจจัยต่างๆ อยู่เสมอๆ ซึ่งต้องเริ่มจากการศึกษาในเรื่องของพื้นฐานหุ้น ไม่ว่าจะเป็นแนวโน้มทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมที่ส่งผลในแง่การเติบโตของบริษัท วิเคราะห์ตัวบริษัทในแง่ของวิสัยทัศน์ของผู้บริหาร สินค้าและบริการ ความได้เปรียบต่างๆ ในการแข่งขันเมื่อเทียบกับคู่แข่ง ผลการดำเนินงานที่ผ่านมาตลอดจนแผนงานต่างๆในอนาคต

เริ่มต้นลงทุนด้วยเงินเพียงเดือนละ 1,000 บาท ในการซื้อขั้นต่ำเริ่มต้นที่ 100 หุ้น จากข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย การลงทุนในตลาดหุ้นไทย โดยอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปี (2551 – 2560) อยู่ที่ 11.61% ซึ่งเป็นการลงทุนที่เหมาะกับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้สูง

3. การลงทุนในกองทุนรวม

การลงทุนในกองทุนรวม (Mutual Fund) ก็เป็นอีกวิธีการหนึ่งคือการซื้อกองทุนรวมที่บริหารงานโดยผู้จัดการกองทุนที่เป็นมืออาชีพ โดยกองทุนจะไปลงทุนตามนโยบายที่กำหนดไว้ เช่น กองทุนรวมตลาดเงิน กองทุนรวมตราสารหนี้ กองทุนรวมผสม กองทุนรวมหุ้น กองทุนอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเหมาะกับคนที่ไม่มีเวลาติดตามการลงทุน ไม่ประสบความสำเร็จในการลงทุนด้วยตัวเอง สามารถนำมาจัดพอร์ตการลงทุนภายใต้ความเสี่ยงที่เหมาะสมกับตัวเราเพื่อเป้าหมายทางการเงินของเราได้สามารถเริ่มจากการเปรียบเทียบกองทุนรวม เช่น ผลตอบแทนย้อนหลัง 3-5 ปี ความเสี่ยงและความผันผวนจากการดำเนินงาน แนวทางการบริหารงานของผู้จัดการกองทุนรวม ทรัพย์สินที่ลงทุนและการกระจายความเสี่ยง ค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บ เป็นต้น

ปัจจุบันสามารถลงทุนในกองทุนรวมได้ โดยเริ่มจากเงินเพียง 1 – 1,000 บาทขึ้นไป นอกจากนี้หากใครต้องการลงทุนเพื่อรับสิทธิในการนำไปลดหย่อนภาษี ก็สามารถเลือกลงทุนในกองทุนประเภท SSF SSFX และ RMF ได้

ท้ายที่สุดแล้วนั้น ผู้ลงทุนต้องทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนการตัดสินใจลงทุน ซึ่งจะเห็นได้ว่าการที่เรามีเงินออมจากการทำงาน สามารถเปลี่ยนเป็นเงินลงทุนให้งอกเงยมากขึ้นได้ในทรัพย์สินหลายๆ ประเภท เช่น ตราสารหนี้ หุ้น และ กองทุนรวม โดยเริ่มต้นง่ายๆ ด้วยเงินเพียง 1,000 บาทเท่านั้น

ผู้เชี่ยวชาญการเงินการลงทุน ซ่าอินไทย
Author: ผู้เชี่ยวชาญการเงินการลงทุน ซ่าอินไทย

ติดตามข่าวสารการเงินการลงทุนทุกรูปแบบได้ที่นี่

Share this Article
ติดตามข่าวสารการเงินการลงทุนทุกรูปแบบได้ที่นี่