ปรับสมดุลพอร์ตการลงทุน Portfolio Rebalancing สมดุลของสัดส่วนน้ำหนักการลงทุนในสินทรัพย์แต่ละประเภท

1 Min Read

ปรับสมดุลพอร์ตการลงทุน Portfolio Rebalancing สัดส่วนการลงทุนที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้การทำ Rebalancing ให้กับพอร์ตจึงสำคัญ

“Portfolio rebalancing ” หรือเรียกสั้นๆ ว่า “Rebalancing” คือ การปรับสมดุลของสัดส่วนน้ำหนักการลงทุนในสินทรัพย์แต่ละประเภทที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ให้กลับมาอยู่ในสัดส่วนตามแผนการลงทุนเดิมตั้งแต่ต้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากในการควบคุมระดับความเสี่ยงให้กับการลงทุนทั้งหมด ให้ยังคงอยู่ในระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้

สิ่งที่นักลงทุนคาดหวังจะได้รับจากการลงทุน คือ ดอกผลจากการลงทุนที่งอกเงยมากกว่าเงินฝาก อย่างไรก็ตามดอกผลที่มากขึ้นนั้น ก็มาพร้อมกับ “ความเสี่ยง” ที่เพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งคุณสามารถจัดการกับความเสี่ยงเหล่านี้ได้ด้วยการ “จัดสรรเงินลงทุน” (Assets Allocation) ไปในการลงทุนหลายๆ ประเภท เหตุผลที่ไม่ควรทุ่มเงินไปกับการลงทุนประเภทใดประเภทหนึ่งมากเกินไป เพราะหากผลลัพธ์ไม่เป็นไปตามที่คาดไว้ คุณอาจสูญเสียเงินทั้งหมดในคราวเดียวกัน แต่หากคุณรู้จักจัดสรรการลงทุนอย่างเหมาะสม โดยพิจารณาถึงความสัมพันธ์และทิศทางการขึ้นลงของราคาที่แตกต่างกัน การขาดทุนจากการลงทุนประเภทหนึ่ง อาจถูกชดเชยด้วยกำไรจากการลงทุนอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งนอกจากจะช่วยลดความเสี่ยงได้แล้ว ยังช่วยให้คุณได้รับผลตอบแทนรวมที่ไม่ขี้เหร่จนเกินไปด้วย

ปรับสมดุลพอร์ตการลงทุน Portfolio Rebalancing ก็มีอยู่ 2 วิธีง่ายๆ คือ “ถ้าไม่ขายสัดส่วนที่เกินไปซื้อในสัดส่วนที่ลด ก็เอาเงินเติมเข้าไปซื้อแทน” ขยายความว่า

ขายสินทรัพย์ที่เกินสัดส่วนเดิมออกไป จากนั้นนำเงินไปซื้อสินทรัพย์ที่มีสัดส่วนลดน้อยลงให้กลับมามีสัดส่วนเท่าเดิม
เติมเงินนำมาซื้อสินทรัพย์ที่มีสัดส่วนลดน้อยลง ให้กลับมามีสัดส่วนเท่าที่เคยได้กำหนดเอาไว้ตั้งแต่ต้น
ยกตัวอย่าง สมมติให้พอเห็นภาพกันสักเล็กน้อย ถ้าเรามีเงิน 200,000 บาท ตั้งใจจัดพอร์ตให้มีสินทรัพย์เสี่ยงต่ำ 50% และสินทรัพย์เสี่ยงสูง 50% โดยไปลงทุนใน กองทุนรวมตราสารหนี้ 100,000 บาท กับ หุ้น 100,000 บาท และกำหนดว่าจะปรับเมื่อมีการเปลี่ยนแปลง +-5%

…ผ่านไป6เดือน ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นร้อนแรง เพิ่มขึ้น 25% แต่กองทุนรวมตราสารหนี้กลับขยับขึ้นแค่ 2% ทำให้มูลค่ากองทุนรวมตราสารหนี้เพิ่มเป็น 102,000 บาท และหุ้นเพิ่มเป็น 125,000 บาท มูลค่าพอร์ตรวมจึงเป็น 227,000 บาท

ซึ่งส่งผลต่อสัดส่วนการลงทุนเปลี่ยนไปเป็น สินทรัพย์เสี่ยงต่ำ 45% และสินทรัพย์เสี่ยงสูง 55% ถึงตามกำหนดที่ตั้งไว้

สัดส่วนการลงทุน

ดังนั้น เราจึงทำการ Rebalancing โดยการขายหุ้นออกเป็นจำนวน 11,500 บาท แล้วนำเงินที่ได้นี้ไปซื้อกองทุนตราสารหนี้เพิ่มแทน ก็จะทำให้พอร์ตการลงทุนกลับมามีสัดส่วนเท่ากับ กองทุนตราสารหนี้ 113,500 บาท และ หุ้น 113,500 บาท (50:50) ดังเดิมตามที่ตั้งใจไว้

ควรทำ Rebalancing เมื่อ

– เมื่อระยะเวลาผ่านไป (Time) เช่น นักลงทุนสามารถตั้งกฎการปรับสมดุลพอร์ตการลงทุนเมื่อระยะเวลาผ่านไปทุกๆครึ่งปี หรือทุกๆ 1 ปี
– เมื่อสัดส่วนการลงทุนเปลี่ยนไปจนถึงเกณฑ์ที่กำหนด (Threshold) เช่น นักลงทุนสามารถตั้งกฎการปรับสมดุลพอร์ตการลงทุนว่าจะปรับสมดุลกลับมาทุกครั้งที่สัดส่วนการลงทุนของสินทรัพย์ใดๆ บวก/ลบ เกิน 10%
– เมื่อนักลงทุนมีระดับการยอมรับความเสี่ยงที่เปลี่ยนไป เช่น เมื่อเข้าใกล้วัยเกษียณ นักลงทุนรับความเสี่ยงได้ลดลง จึงต้องการปรับลดน้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้นลงจาก 50% เหลือ 30%

สรุปการปรับสมดุลพอร์ตการลงทุนที่ถี่เกินไปหรือห่างเกินไป ไม่ใช่เรื่องที่ดี นักลงทุนจึงต้องหาจุดสมดุลในการปรับพอร์ตของตัวเองเพื่อที่จะทำให้พอร์ตการลงทุนไม่ผันผวนจนเกินไป ในขณะเดียวกันก็ไม่โดนค่าธรรมเนียมการซื้อขายที่สูงเกินไปจนส่งผลให้ผลตอบแทนจากการลงทุนลดลงด้วย

ผู้เชี่ยวชาญการเงินการลงทุน ซ่าอินไทย
Author: ผู้เชี่ยวชาญการเงินการลงทุน ซ่าอินไทย

ติดตามข่าวสารการเงินการลงทุนทุกรูปแบบได้ที่นี่

Share this Article
ติดตามข่าวสารการเงินการลงทุนทุกรูปแบบได้ที่นี่