ทิศทางการลงทุน ลงทุนอย่างไร เมื่อโลกเจอปัญหาที่รุมเร้า

1 Min Read

ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศและสงครามการค้าอีกทั้งโรคระบาดจากไวรัส ล้วนก่อเป็นปัญหาที่รุมเร้า จนทำให้โลกของเรานั้นเสมือนกับคนที่มีอาการป่วย สถานการณ์ลักษณะนี้นักลงทุนก็พยายามศึกษาว่าควรทำอย่างไร ที่ยังสามารถสร้างผลตอบแทนให้กับพอร์ตลงทุนได้ ในช่วงที่โลกยังไม่ฟื้นตัว ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดในตอนนี้ นั่นก็คือนักลงทุนต้องหาผลิตภัณฑ์การลงทุนที่เรียกได้ว่าเป็นวัคซีน เพื่อมาช่วยให้พอร์ตลงทุนโดยรวมมีความเสี่ยงลดลง วัคซีนเพื่อการลงทุนที่ว่านี้ควรมีคุณสมบัติโดดเด่นคือ สามารถต้านทานต่อภาวะความผันผวนได้ในระยะยาว และสามารถสร้างผลตอบแทนได้ดี

ดัชนีหลักของตลาดหุ้นจีนที่มองว่าราคาไม่สูงนัก

ถึงแม้ว่าจีนจะเป็นต้นทางของการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 แต่หุ้นในกลุ่ม A-Shares ซึ่งเป็นบริษัทที่มีถิ่นฐานการทำธุรกิจในจีนยังมีความน่าสนใจ เพราะมีหุ้นกลุ่มสินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภค (Consumer) และกลุ่มธุรกิจการแพทย์ (Health Care) ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าที่มีความต้องการบริโภคภายในประเทศสูงมาก จึงทำให้ได้รับผลกระทบจากภาวะโรคภัยที่เกิดขึ้นน้อย ในทางตรงกันข้ามกลับมีความต้องการเพิ่มมากขึ้นด้วย อีกทั้ง ภาพรวมหุ้นจีนในกลุ่ม A-Shares ยังได้รับปัจจัยบวกจากการที่รัฐบาลจีนเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการอัดฉีดเม็ดเงินเพื่อเพิ่มสภาพคล่องในระบบอย่างต่อเนื่อง และเน้นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มขึ้น เพื่อพยุงเศรษฐกิจไม่ให้คนตื่นตระหนกมากเกินไป ที่สำคัญอัตราส่วนราคาต่อกำไรต่อหุ้น (P/E Ratio) ของตลาดหุ้น A-Shares ยังไม่ได้อยู่ในระดับสูง โดยล่าสุด Forward P/E อยู่ที่ราว 11.2 เท่า สะท้อนว่าหากเข้าไปลงทุนในเวลานี้ก็จะได้หุ้นในราคาที่ไม่แพงนัก

เมกกะเทรนด์ที่โดดเด่นยังคงเป็นธุรกิจออนไลน์หรือ E-commerce

นอกจากธุรกิจ E-Commerce จะอิงกระแสเมกกะเทรนด์ในเรื่องความก้าวหน้าในการพัฒนาอินเทอร์เน็ต (Internet Breakthrough) เป็นธุรกิจที่มีอัตราการเติบโตสูง ทนทานต่อทุกสภาวะเศรษฐกิจและสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีได้ในระยะยาว ซึ่งธุรกิจนี้ยังมีความโดดเด่นอีกหลายเรื่อง เช่น

1. ปัจจุบันผู้บริโภคเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้มากขึ้นและมีแนวโน้มใช้จ่ายผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น (อัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตโดยเฉลี่ยทั่วโลกประมาณ 53% โดยในสหรัฐอเมริกามีอัตราประมาณ 88%)
2. ธุรกิจ E-Commerce แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ Traditional Retailers, Online Travel Agency และ Market Place ซึ่งธุรกิจเหล่านี้อยู่ในช่วงเจริญเติบโต (Growth Stage) และยังมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าในช่วง 2 – 3 ปีข้างหน้าจะยังคงเติบโตได้กว่า 15%
3. ธุรกิจ E-Commerce สามารถเก็บข้อมูลพฤติกรรมผู้บริโภคได้ ทำให้สามารถนำเสนอสินค้า บริการ และโปรโมชั่นต่างๆ ได้ตรงตามความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น
4. ผู้บริโภคมีความสะดวกในการเลือกซื้อสินค้าและบริการ และการชำระเงิน ทำให้ง่ายต่อการใช้จ่าย

ดังนั้น แม้จะเกิดความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ปัญหาทางการเมืองระดับโลก หรือมีปัญหาโรคระบาดเกิดขึ้นในระหว่างที่ลงทุนก็ไม่น่าจะส่งผลกระทบระยะยาวต่อธุรกิจกลุ่มนี้

ตลาดหุ้นไทยก็ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว

มองว่าตลาดหุ้นไทยมีโอกาสผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในช่วงไตรมาสที่ 1 ที่ 970 จุด แต่ต้องอยู่บนสมมติฐานที่ว่าเศรษฐกิจไทยนั้นจะปรับตัวทำจุดต่ำสุดในช่วงไตรมาสที่ 2 นี้ เนื่องจากโดยปกติแล้วดัชนีหุ้นไทยมักปรับตัวชี้นำเศรษฐกิจและกำไรของ บจ.อยู่ประมาณ 1 ไตรมาส มองการประกาศเคอร์ฟิวหากเกิดขึ้นจริงจะเป็นผลบวกต่อ SET เนื่องจากจะเป็นการช่วยร่นระยะเวลาจุดสูงสุดของปัญหาให้ใกล้เข้ามายิ่งขึ้น ธีมการลงทุนที่น่าสนใจคือ

1. กลุ่มโรงไฟฟ้า ที่ Valuation เริ่มลดความร้อนแรงลงและยังมีความน่าสนใจจากฐานรายได้ที่สม่ำเสมอและปันผลดี ได้แก่ BGRIM GPSC GULF EGCO RATCH
2. กลุ่มสื่อสาร ที่มีอัตราเงินปันผลสูง มีความผันผวนต่ำและยังได้รับประโยชน์จากปริมาณการใช้ Data ที่สูงขึ้นจากการทำงานที่บ้าน เช่น ADVANC และ INTUCH
3. กลุ่ม Consumer staple ที่เกี่ยวเนื่องกับการใช้ชีวิตประจำวันและได้ประโยชน์จากการเร่งกักตุนสินค้าของประชาชน รวมถึงมาตรการเพิ่มเงินในกระเป๋าจากทางรัฐบาลและ ธปท. คือ MAKRO และ BJC
4. กลุ่มบริหารสินทรัพย์ ที่ได้ประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยลดลงทำให้ต้นทุนทางการเงินถูกลง และมีโอกาสซื้อหนี้ในราคาถูกในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว คือ BAM และ
5. กลุ่มอาหารที่ได้ประโยชน์จากเงินบาทอ่อนค่า การบริโภคเนื้อสัตว์ที่เพิ่มขึ้น และการ Turn around ของกำไร คือ CPF และ TU

ผู้เชี่ยวชาญการเงินการลงทุน ซ่าอินไทย
Author: ผู้เชี่ยวชาญการเงินการลงทุน ซ่าอินไทย

ติดตามข่าวสารการเงินการลงทุนทุกรูปแบบได้ที่นี่

Share this Article
ติดตามข่าวสารการเงินการลงทุนทุกรูปแบบได้ที่นี่