ทรู คอร์ปอเรชั่น ผู้ใช้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือเพิ่มขึ้น สูงสุดในอุตสาหกรรม

1 Min Read

TRUE : บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยี หมวดธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เริ่มต้นซื้อขายมาตั้งแต่ 22 ธ.ค. 2536 ราคาพาร์ 4 บาท ทุนจดทะเบียน 133,474,621,856 บาท จำนวนหุ้นจดทะเบียนกับตลท. 33,368,195,301 หุ้น ลักษณะธุรกิจธุรกิจหลักของกลุ่มทรู ประกอบด้วย ทรูมูฟ เอช ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ด้วยเครือข่ายประสิทธิภาพสูงและครอบคลุมทั่วประเทศ ทั้งเครือข่าย 4G 3G 2G และ NB-IoT บนคลื่นความถี่ที่หลากหลาย ทรูออนไลน์ ให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงหรือบริการบรอดแบนด์และโซลูชั่นส์ บริการโครงข่ายข้อมูล ดาต้าเกตเวย์ และบริการเสริมต่างๆ ผ่านโครงข่ายไฟเบอร์ประสิทธิภาพสูง ทรูวิชั่นส์ ให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก บริการในระบบเอชดี 4K และโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลทั่วประเทศ อีกทั้งเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์ ซึ่งมีคอนเทนต์คุณภาพสูงหลากหลายทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ทรูดิจิทัลกรุ๊ป รวบรวมบริการด้านดิจิทัล ผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์ม แพลตฟอร์มที่เชื่อมระหว่างออนไลน์และออฟไลน์ (O2O) และสิทธิประโยชน์หลากหลาย รวมถึงการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics) และ Internet of Things (IoT) โดยบริการด้านดิจิทัลของกลุ่มมีโอกาสเติบโตสูงจากความต้องการใช้บริการด้านดิจิทัลที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ณ สิ้นปี 19 ธุรกิจบริการเครือข่ายโทรศัพท์(ทรูมูฟเอช) มีผู้ใช้บริการจำนวน 30.6 ล้านหมายเลข (+5%YoY,+2%QoQ) แบ่งเป็น ลูกค้าเติมเงิน 8.3 ล้านหมายเลขและลูกค้ารายเดือน 22.3 ล้านหมายเลข บริษัทฯตั้งเป้ารายได้ในปี 20 จะเติบโตในอัตราที่ดีกว่าในปี 19 โดยมองว่าการเติบโตของรายได้จะมาจากการเติบโตของผู้ใช้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ทั้งเติมเงินและรายเดือน การประมูลคลื่น 5G ที่ผ่านมา บริษัทฯได้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 2600MHz และ 26GHz จำนวนเงินรวม 2.1 หมื่นล้านบาทโดยจะเริ่มตัดจำหน่ายตั้งปี20 เป็นต้นไป และการเปิดใช้ 5G นี้จะเป็นตัวผลักดันให้รายได้เติบโตขึ้น มีแผนลดค่าใช้จ่ายในธุรกิจให้บริการโทรทัศน์(ทรูวิชั่น) จากการตัดรายการที่ผลตอบรับไม่ดีเท่าที่ควร อีกทั้งมีแผนช่วยเหลือผู้ประกอบการคู่ค้า โดยการขอส่วนลดจาก content provider ให้ผู้ประกอบการโรงแรมในระยะสั้น มีแผนปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานของ Shop in Shop ใน 7-11 ในแต่ละสาขาเพื่อให้ในแต่ละสาขาสามารถทำกำไรให้กับบริษัทฯได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตั้งเป้าใช้งบลงทุนในปี 19 ใกล้เคียงกับปี 18 ที่ 4 หมื่นล้านบาท โดยภายใน 5 ปีข้างหน้านี้บริษัทฯยังไม่มีแผนที่จะลงทุนขนาดใหญ่

ราคาหุ้นที่ปรับลง 77% จากระดับสูงสุดช่วงกลางเดือนก.พ.15 จนปัจจุบันซื้อขายที่ PBV 0.9x เมื่อเทียบกับคู่แข่งในอุตสาหกรรม คือ ADVANC และ DTAC ที่ซื้อขายอยู่ที่ 8.6x และ 3.5x ตามลำดับ ซึ่งราคาหุ้นที่ลงมาสะท้อนผลประกอบ ที่ขาดทุนตั้งแต่การประมูล 4G ในระยะยาวเรามองว่าผลประกอบในปี 20 เป็นต้นไปจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากจะมีการรับรู้ค่าตัดจำหน่ายใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่จำนวน 3 คลื่นความถี่ได้แก่ 700MHz, 2600MHz และ 26GHz จำนวน 1 พันล้านบาทและ 2.6 พันล้านบาทในช่วงปี 20-21 นักลงทุนควรติดตามแนวโน้มของจำนวนผู้ใช้บริการเพิ่มเติมและแนวโน้มของค่าบริการรายเดือนและเติมเงินทั้งธุรกิจเครือข่ายโทรศัพท์และธุรกิจบรอดแบนด์ที่จะช่วยมาผลักดันรายได้ให้เพียงพอต่อการเพิ่มขึ้นของค่าตัดจำหน่าย อิงกับข้อมูลใน Bloomberg มีนักวิเคราะห์จำนวน 9 จาก 25 ท่านที่ให้คำแนะนำ “ซื้อ”

ผู้เชี่ยวชาญการเงินการลงทุน ซ่าอินไทย
Author: ผู้เชี่ยวชาญการเงินการลงทุน ซ่าอินไทย

ติดตามข่าวสารการเงินการลงทุนทุกรูปแบบได้ที่นี่

Share this Article
ติดตามข่าวสารการเงินการลงทุนทุกรูปแบบได้ที่นี่